เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น หลายคนก็จะลนลานจนทำอะไรไม่ถูก หรือทำไม่ถูกวิธี จนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปอย่างน่าเสียดาย การรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ต้องมีการจัดการที่ดี ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุ ไปจนถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ดังนี้
มาเตรียมตัวรับมือก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้
1. ให้มองหาทางหนีไว้อย่างน้อย 2 ทาง ไม่ว่าจะพักอาศัยอยู่ที่ไหน หรือเดินทางไปที่ใดก็ตาม เช่น สังเกตตำแหน่งบันไดหลักและบันไดหนีไฟ ประตู หน้าต่าง เส้นทางหนีไฟ และทางออกจากตัวอาคาร และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าทางออกนั้นไม่ปิดล็อคหรือมีสิ่งกีดขวาง และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
2. สังเกตอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์เตือนภัย ว่าเป็นแบบใด อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร และใช้อย่างไร ได้แก่ เครื่องดักจับควัน (Smoke Detectors) เครื่องดักจับความร้อน (Heat Detectors) อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ (Sprinkler) อุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน (Fire / Emergency Alarm) และเครื่องดับเพลิง (Fire Extinguisher)
3. นำกุญแจห้องพักติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ออกจากห้อง และวางกุญแจและไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอนและง่ายต่อการหยิบฉวย หากเกิดเพลิงไหม้ในยามค่ำคืนจะได้นำกุญแจและไฟฉายติดตัวไปด้วย เผื่อในกรณีที่หมดหนทางหนี จะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้
พยายามเก็บเอกสารและทรัพย์สินมีค่าเท่าที่จำเป็นไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายหนีไฟ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์รุนแรง อย่ามัวเสียเวลากับของนอกกาย ให้เอาชีวิตรอดไว้ก่อน
4. ควรฝึกซ้อมหนีไฟทุก 6 เดือน ทั้งการซ้อมอย่างเต็มรูปแบบโดยเจ้าของอาคาร และการฝึกซ้อมด้วยตัวเอง โดยการหลับตาหรือปิดไฟให้มืดสนิท เนื่องจากเมื่อเกิดเพลิงไหม้จะมีความมืดปกคลุม ไม่สามารถมองเห็นอะไรได้ ความมืดนั้นอาจเกิดจากกระแสไฟฟ้าถูกตัด หมอกควันหนาแน่น หรือเป็นเวลากลางคืน
ฝึกซ้อมการเดินในห้องพักให้ชำนาญ เมื่อออกจากห้องพักแล้ว ให้นับจำนวนประตูห้อง โดยเริ่มจากห้องของท่าน ไปสู่ทางออกฉุกเฉินทั้งสองทาง หรือจดจำจุดสังเกตอื่นๆ เพื่อที่จะไปถึงทางออกฉุกเฉินได้ท่ามกลางความมืด
5. ควรสร้างระเบียบมาตรฐานร่วมกัน คือ เดินชิดขวา แถวเรียงเดี่ยว ห้ามดึง ห้ามดัน ห้ามผลัก ห้ามแซง และก้มตัวต่ำในกรณีที่มีควัน เนื่องจากความชุลมุนวุ่นวายจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นจริงๆ
การเดินชิดขวานั้นใช้ได้กับกรณีอื่นด้วย เช่น การเดินขึ้นลงบันได การเดินบนถนนซึ่งรถยนต์ในเมืองไทยจะวิ่งชิดซ้าย การเดินชิดขวาจึงปลอดภัยกว่า
6. ต้องมีจุดนัดหมายใกล้สถานที่เกิดเหตุ จะได้ไปรวมตัวกันตามที่นัดหมายไว้ แล้วตรวจสอบจำนวนคน เพื่อหาผู้ที่ติดค้างในอาคาร
จุดนัดหมายดังกล่าวต้องเป็นสถานที่ที่ใกล้และสะดวกต่อการอพยพมากที่สุด กว้างขวางเพียงพอที่จะรองรับผู้อพยพ รวมทั้งหน่วยช่วยเหลือและทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายออกมา หลีกเลี่ยงพื้นที่ถนนหรือต้องข้ามถนนเพราะอาจเกิดอันตรายได้ และจะต้องปลอดภัยจากควันไฟ เปลวไฟ และแรงระเบิด
7. จดเบอร์โทรศัพท์หน่วยดับเพลิงไว้ เช่น 199 หรือสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ ที่อยู่ใกล้เคียง
มาเตรียมตัวรับมือขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้
1. ปิดประตูหน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิทที่สุดทันทีถ้าทำได้ เพื่อป้องกันการลุกลาม แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างใน แล้วรีบหนีออกมา ผู้ที่จะทำการดับเพลิง ควรเป็นผู้ที่ฝึกระงับอัคคีภัยมาแล้ว หากไม่มั่นใจ อย่าเสี่ยง
2. เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ หากไม่มีอุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน ให้ตะโกนดังๆ หลายๆ ครั้งว่า “ไฟไหม้” จากนั้นโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงทันที
3. หากอยู่ในอาคารที่มีเพลิงไหม้ ก่อนจะเปิดประตูต้องระวัง ให้นั่งชันเข่าให้มั่นคงหลังประตู แล้วใช้หลังมือแตะที่ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูง แสดงว่ามีเพลิงไหม้อยู่บริเวณใกล้ ๆ อย่าเปิดโดยเด็ดขาด แต่หากไม่ร้อนผิดปกติ ให้ค่อยๆ เปิดออกช้าๆ โดยใช้ไหล่คอยหนุนประตูไว้ หากทำได้ควรหาผ้าชุบน้ำปิดจมูก หรือผ้าห่มชุบน้ำชุ่มๆ ไว้ด้วย
4. หากต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุม ให้ใช้วิธีคลานต่ำๆ หนีไปยังทางออกฉุกเฉิน เพราะอากาศที่พอหายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต
ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุเพลิงไหม้ประมาณร้อยละ 90 เป็นผลมาจากควันไฟ ซึ่งมีทั้งก๊าซพิษ และทำให้ขาดออกซิเจน ควรเตรียมหน้ากากหนีไฟฉุกเฉิน (Emergency smoke mask) ไว้จะปลอดภัยกว่า หรืออาจใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศแล้วคลุมศีรษะหนีฝ่าควันออกมา เพราะการคลานต่ำจะไม่สามารถทำได้จากชั้นบนลงชั้นล่างที่มีควัน
5. อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น ไม่ควรใช้บันไดภายในอาคารหรือบันไดเลื่อน เนื่องจากบันไดเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันควันไฟและเปลวไฟได้
6. หากติดอยู่ในวงล้อมของไฟ ให้โทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงว่าท่านอยู่ที่ตำแหน่งใดของเพลิงไหม้ แล้วหาทางช่วยเหลือตัวเอง โดยปิดประตูให้สนิท หาผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันเข้าได้ เช่น ใต้ประตูหรือช่องลมต่างๆ ปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่างส่งสัญญาณด้วยการโบกผ้าและตะโกนขอความช่วยเหลือ
กรณีที่อยู่ในอาคารสูง หากมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น รอกหนีไฟ (Fire Escape Device) ให้นำมาใช้โดยไม่ต้องรอ หรืออาจดัดแปลงอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างอื่น เช่น สายฉีดน้ำดับเพลิง เชือก หรือฉีกผ้าปูที่นอนต่อเป็นเชือกลงทางหน้าต่าง แต่ต้องแน่นหนาพอที่จะรับน้ำหนักได้
7. หากมีไฟลามติดตัว ให้ทรุดกายลงกลิ้งกับพื้นเพื่อดับไฟ
สิ่ง สำคัญเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ คือต้องควบคุมสติให้ดี อย่าตื่นกลัวจนทำอะไรไม่ถูก จากนั้นพิจารณาหาทางออกที่ปลอดภัย แล้วรีบหนีออกไปยังจุดนัดพบ
อ้างอิง : http://www.shawpat.or.th