อิฐมอญถือเป็นอิฐที่นิยมใช้สำหรับการก่อกำแพงในงานก่อสร้าง ซึ่งอิฐมอญมีวิธีการก่อที่ถูกต้องเพื่อให้กำแพงแข็งแรง ไม่เอนเอียง ในบทความนี้ทางพีดีเอสจะพาทุกท่านไปดูวิธีการก่ออิฐมอญที่ถูกต้องตามขั้นตอนกันครับ
1.ก่อนจะนำอิฐมอญทุกก้อนมาใช้ก่อกำแพง ต้องนำอิฐไปแช่น้ำให้อิฐอิ่มตัว แล้วยกออกมาวางไว้ให้ผิวอิฐแห้งหมาดๆ จึงจะนำไปใช้ก่อผนังได้ การแช่น้ำยังช่วยให้อิฐสะอาดอีกด้วย ทำให้เกิดการยึดเหนี่ยวได้ดี
2.การก่ออิฐต้องเริ่มก่อจากมุมก่อนเสมอ การเริ่มก่อจากมุมขอบผนังหรือขอบเสา ช่วยให้ผนังมีการยึดเกาะที่มั่นคง และขึงเส้นเอ็นจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้แนวของผนังได้แนวตรง
3.การก่ออิฐนอกจากต้องขึงเอ็นแนวราบแล้ว ยังต้องขึงเอ็นในแนวดิ่งด้วย เพื่อป้องกันการก่ออิฐที่ไม่ได้แนวตรงคดไปคดมา หรือผนังไม่ได้ดิ่ง ซึ่งเป็นปัญหาให้ต้องมาฉาบปูนพอกช่วยแก้ ให้ผนังนั้นแลดูตรง แต่ข้อเสีย ทำให้ผนังมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลต่อโครงสร้างในภายหลัง
4.แนวปูนก่อหรือความหนาของปูนก่อ ต้องมีความหนาอยู่ระหว่าง 1-2เซนติเมตร เพื่อช่วยให้การยึดเหนี่ยวระหว่างก้อนอิฐได้ดี และปูนทราบควรมีความข้นเหลวที่พอดี ถ้าแนวปูนก่อหนาน้อยกว่า 1เซนติเมตร จะทำให้การยึดเกาะด้อยลงและการถ่ายน้ำหนักของผนังอิฐได้ไม่ดี แต่ถ้าหนาเกิน 2เซนติเมตร ก็จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับผนังและสิ้นเปลืองปูนทรายมากขึ้น
5.ผนังอิฐที่เริ่มก่อจากขอบเสา ที่ขอบเสานั้นจะต้องมีการเสียบเหล็กหนวดกุ้งไว้ เพื่อทำหน้าที่ยึดเกาะเกี่ยวกับผนังอิฐ โดยทั่วไปเหล็กหนวดกุ้งจะมีขนาด 6มม. ยาวประมาณ 40-50เซนติเมตร เสียบที่เสาระยะห่างกันประมาณ 30-40เซนติเมตร ผนังที่ไม่มีเหล็กหนวดกุ้งยึดเหนี่ยวอาจมีการแตกร้าวได้ง่าย เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือน
6.ผนังอิฐที่มีการเว้นช่องเปิดไว้ เช่น สำหรับช่องประตู ช่องหน้าต่าง จะต้องมีการเสริมเสาเอ็นและคานเอ็นรัดรอบ เพื่อทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักผนังอิฐ และป้องกันการยืดหดตัวจากวงกบไม้ ปัญหาที่เกิดจากการไม่มีเสาเอ็นและคานเอ็นนั้น เราจะพบเห็นได้บ่อยๆที่มุมของวงกบประตูหรือหน้าต่างจะมีรอยแตกร้าวเกิดขึ้น
7.ผนังอิฐที่มีความกว้างเกินกว่า 3-4เมตร ต้องมีการเสริมเสาเอ็น และถ้าผนังนั้นสูงเกิน 2-3เมตร ก็ต้องมีการเสริมคานเอ็น เพื่อทำหน้าที่ให้ผนังใช้เป็นที่เกาะยึดหรือเป็นการช่วยกระจายน้ำหนักผนังให้สม่ำเสมอ และช่วยให้ผนังมีความแข็งแรงไม่แตกร้าวได้ง่าย เมื่อผนังได้รับแรงสั่นสะเทือน
8.การก่อผนังอิฐหรือฉาบปูน ควรต้องวางแผนการก่อหรือฉาบด้วย ไม่ควรก่อผนังอิฐในด้านที่มีแสงแดดจัดส่อง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาที่บังแดดมาบังการก่อหรือฉาบในขณะที่แสงแดดจัดส่อง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาที่บังแดดมาบังการก่อหรือฉาบในขณะที่แสงแดดจัดส่อง เพราะจะทำให้ผนังนั้นแห้งเร็วเกินไป
9.การก่อผนังอิฐจนเกือบถึงใต้คานชั้นบน ควรหยุดเว้นช่องว่างไว้ประมาณ 10-20เซนติเมตร ประมาณ 3-5วัน เพื่อรอให้คานคอนกรีตนั้นแอ่นจนอยู่ตัวแล้ว หรือรอให้ผนังที่เพิ่งก่อเสร็จใหม่ๆนั้นยุบตัวให้คงที่เสียก่อนจึงค่อยก่ออิฐเติมให้เติมใต้ท้องคานนั้น ก็จะไม่เกิดปัญหาการแตกร้าวของผนังอันเนื่องมาจากสาเหตุดังกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ การจัดการความปลอดภัยในงานก่อสร้าง